ชนิดของงูพิษและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

สพ.ญ.พรทิพา โรจนแสง

ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้นจึงเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของงูพิษหลายชนิด ทำให้มีงูอยู่มากถึง 165 ชนิด ซึ่งจัดเป็นงูพิษ 46 ชนิด เป็นงูพิษที่อาศัยบนบก 24 ชนิด และเป็นงูทะเล 22 ชนิด จากงูพิษทั้งหมดสามารถแบ่งชนิดของงูพิษได้ 3 ชนิดตามอาการของพิษ คือ

• พิษที่มีผลทางระบบประสาท ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง และงูสามเหลี่ยม
เป็นต้น พิษของงูเหล่านี้จะแสดงอาการเร็ว คือตั้งแต่ 10 นาที ถึง หลายชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีอาการหนังตาตก ขากรรไกรแข็ง พูดไม่ชัด กลืนน้ำลายไม่ได้ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ตาพร่า อ่อนเพลียในที่สุดเป็นอัมพาต และอาจตายจากการหายใจล้มเหลว


• พิษที่มีผลทางระบบกล้ามเนื้อ ได้แก่ งูทะเลชนิดต่างๆ
มักจะแสดงอาการค่อนข้างช้า ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมง ถึงหลายชั่วโมงหลังจากถูกงูกัด บางทีอาจช้าถึง 1 วันได้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขา บางรายอาจเป็นอัมพาตบางส่วน หรืออัมพาตทั้งหมด ปัสสาวะลดลง และสีจะเข้มขึ้นจนคล้ายสีของโคล่า ผู้ป่วยมักเสียชีวิตเนื่องจากไตวายหรือการหายใจล้มเหลว


• พิษที่มีผลทางระบบโลหิต ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้
เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมบริเวณที่ถูกกัดอย่างเห็นได้ชัดเจนมากกว่างูพิษทาง ระบบประสาท และมีเลือดซึมตามรอยเขี้ยว มีเลือดออกใต้ผิวหนังเห็นเป็นจ้ำๆ มีเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ในรายที่รุนแรงจะมีการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะมีเลือดปน อวัยวะภายในตกเลือด มักเสียชีวิตจากอาการไตวาย



งูพิษชนิดต่างๆที่สำคัญ
























• งูเห่า (Naja naja )
เป็น งูพิษที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะนอกจากมันจะมีพิษร้ายแรงแล้ว ยังมีอยู่ชุกชุมและพบได้ทุกภาคของไทย งูเห่าสามารถแผ่แม่เบี้ยได้ บางชนิดมีความสามารถพ่นน้ำพิษออกมาได้ไกลถึง 2 เมตร ซึ่งถ้าพิษเข้าตาคนจะทำให้อักเสบอย่างรุนแรงถึงตาบอดได้ สีของงูเห่าพบได้แตกต่างกันตั้งแต่ สีเหลือง สีนวล สีน้ำตาล จนกระทั่งสีดำ


















• งูจงอาง ( Ophiophagus hannah )
เป็น งูพิษที่ใหญ่ที่สุดในโลก เคยพบที่ยาวที่สุดถึง 6 เมตร ลักษณะคล้ายงูเห่า แต่ตัวโตกว่ามาก รูปร่างเพรียวยาวแผ่แม่เบี้ยได้เช่นกัน แต่แม่เบี้ยแคบกว่างูเห่าเมื่อเทียบกันตามสัดส่วนงูจงอางมีนิสัยดุ พบได้ในป่าทุกภาคแต่ชุกชุมทางใต้ ถือกันว่าเป็นงูพิษที่อันตรายที่สุดชนิดหนึ่ง



• งูสามเหลี่ยม (Bungarus fasciatus )

เป็น งูพิษที่แตกต่างจากงูชนิดอื่น ที่แนวกระดูกสันหลังยกตัวเป็นสันสูง ทำให้ลำตัวเป็นรูปสามเหลี่ยมตลอดตัว และสีตัวเป็นปล้องดำสลับเหลืองตลอดแนวลำตัว ขนาดของปล้องสีดำและสีเหลืองใกล้เคียงกัน ปลายหางทู่เหมือนกับว่าหางกุด ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่นตามที่ลุ่มใกล้แหล่งน้ำ ในตอนกลางวันงูชนิดนี้ค่อนข้างเฉื่อยชา แต่จะว่องไวปราดเปรียวมากในตอนกลางคืน เป็นงูที่พบชุกชุมได้ทุกภาคของประเทศไทย



• งูแมวเซา ( Vipera russelli siamensis )

เป็น งูที่มีลำตัวอ้วนสั้น หัวค่อนข้างเป็นรูปสามเหลี่ยม บนหัวมีแต่เกล็ดเล็กๆ ปกคลุมอยู่ ไม่มีเกล็ดแผ่นใหญ่เลย สีตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีลายสีน้ำตาลเข้มเป็นดวงกลมๆตามตัว มีนิสัยดุร้าย เวลาถูกรบกวนจะสามารถพ่นลมออกมาทางรูจมูก เกิดเป็นเสียงขู่ดังน่ากลัวได้ ฉกกัดศัตรูได้รวดเร็ว งูแมวเซามีชุกชุมทางภาคกลาง



• งูกะปะ ( Calloselasma rhodostoma )

เป็น งูที่ขนาดตัวไม่โต หัวเป็นรูปสามเหลี่ยมคอดเล็ก ลำตัวสีน้ำตาลแดง มีลายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสีน้ำตาลเข้ม ตามข้างลำตัว แนวกระดูกสันหลังนูนเป็นสัน ชอบขดตัว นอนนิ่งๆ อยู่ใต้กองใบไม้ร่วงหรือในพงหญ้าที่รก ตามกองหิน ขอนไม้ ไม่ชอบเคลื่อนไหว แต่สามารถ พุ่งฉกกัดศัตรูได้รวดเร็ว พบได้ทุกภาคของประเทศไทย แต่จะชุกชุมทางภาคใต้


• งูเขียวหางไหม้ ( Trimeresurus sp .)
มี อยู่หลากหลายชนิด งูเขียวหางไหม้ส่วนใหญ่มักจะมีลำตัวสีเขียวและหางสีแดง แต่ก็ไม่เป็นอย่างนี้ทุกชนิด เพราะยังมีงูอื่นๆอีกหลายชนิดที่มีตัวเขียวหางแดงเช่นเดียวกับงูเขียวหาง ไหม้ เช่น งูเขียวปากจิ้งจก งูเขียวกาบหมาก ดังนั้นสีสันจึงไม่ใช่ตัวบ่งบอกที่ถูกต้องนัก การจะตัดสินว่างูตัวใดเป็นงูเขียวหางไหม้นั้น ต้องดูที่ส่วนหัว โดยปกติแล้วงูเขียวหางไหม้ จะมีหัวค่อนข้างโต คอเล็ก หัวค่อนข้างจะเป็นรูปสามเหลี่ยม บนหัวมีแต่เกล็ด แผ่นเล็กๆปกคลุมอยู่ ไม่มีเกล็ดแผ่นใหญ่เลย และถ้าสังเกตให้ละเอียดจะพบว่า ที่ระหว่างรูจมูกกับลูกตาของมัน จะมีร่องลึกๆขนาดใหญ่อยู่ข้างละ 1 ร่อง งูเขียวหางไหม้มักจะมีลำตัวอ้วน หางสั้น พบได้ตามพื้นดินที่มีที่สำหรับหลบซ่อนตัว และตามต้นไม้ ออกหากินในเวลากลางคืน งูเขียวหางไหม้ที่มีชุกชุม ได้แก่


• งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง ( Tri-meresurus albolabri s)
ตัวเป็นสีเขียวอ่อน ท้องสีเหลือง ริมฝีปากเหลือง หางแดง พบมากทางภาคกลาง


• งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว ( Tri-meresurus popeorum )
ตัวเป็นสีเขียวเข้ม ตาโตสีเหลือง ท้องสีฟ้า หางสีแดงคล้ำ พบมากในทางภาคกลาง


การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่ถูกงูพิษกัด

• ใช้เชือกรัดเหนือบาดแผล ระหว่างแผลกับหัวใจเพื่อชะลอไม่ให้พิษงูเข้าสู่หัวใจ การรัดไม่ควรรัดแบบขันชะเนาะ เพราะจะทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณใต้ที่รัดไว้ไม่ได้ อาจทำให้เกิดเนื้อตาย และเน่าได้ภายหลัง ถ้าหากว่าต้องใช้เวลานาน กว่าจะพบแพทย์ ก็ควรจะเปลี่ยนบริเวณที่รัดเชือกโดยรัดอีกเปราะหนึ่งเหนือที่รัดครั้งแรก แล้วจึงคลายเปราะเดิมออก ทำเช่นนี้เรื่อยๆ อาจทำทุก 10 นาทีจนกว่าจะพบแพทย์
• พยายามให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวน้อยที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ที่จะทำให้พิษเข้าสู่หัวใจได้เร็วขึ้น
• ไม่ควรใช้ไฟจี้แผล ใช้มีดกรีดแผล หรือดูดแผล
• ไม่ควรให้ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือใช้ยากระตุ้นหัวใจ มอร์ฟีน และยาระงับประสาท ยาแก้แพ้ต่างๆ เพราะจะทำให้อาการสับสนจากอาการจากงูพิษทางระบบประสาท
• อย่าเสียเวลาลองยากลางบ้าน หรือวิธีรักษาแบบอื่นๆ
• ควรรีบนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลที่มีเซรุ่มโดยเร็วที่สุด

ขอขอบคุณ
ข้อมูลจากสถานเสาวภา


Bookmark and Share

Custom Search
Website counter